วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คุณค่าธัญพืชกับเทศกาลกินเจ

           คำว่า "เจ" ในภาษาจีน มีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า "อุโบสถ" คำว่า "กินเจ" ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ "อุโบสถศีล" หรือ "รักษาศีล 8" จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก "การไม่กินเนื้อสัตว์" ไปรวมกับคำว่า "กินเจ" ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ฉะนั้น ความหมายก็คือ "คนกินเจ" มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจ ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน

            การรับประทานอาหารเจ ทำให้มีโอกาสได้กินพืชผักที่มีคุณประโยชน์มากมายหลายชนิด ซึ่งในระหว่างที่รับประทานอาหารเนื้อไม่เคยใส่ใจเลย นอกจากผักสดๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว คนกินเจจำเป็นต้องรับประทานผลไม้สดๆ หลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ เมล็ดธัญพืช ได้แก่ ถั่ว ถั่วเปลือกแข็งทุกประเภท พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน กลอย มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะเมล็ดถั่วมีสารอาหารครบทุกหมู่ ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ทุกคนควรรับประทานอาหารดังกล่าวหมุนเวียนไปให้ครบทุกสี จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และช่วยเสริมให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทำงานได้ดีขึ้น


            ส่วนเนื้อในของเมล็ดพืชผัก อันได้แก่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม มันฮ่อ นับเป็นของขบเคี้ยวที่คนกินเจรู้จักดี เนื้อในของเมล็ดพืชดังกล่าว เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิจามินมากมายหลายชนิด ซึ่งทรงคุณค่าทางโภชนาการอย่างยิ่ง เมล็ดทานตะวันนั้น อุดมไปด้วยน้ำมันและวิตามินอี น้ำมันที่ได้จากเมล็ดทานตะวันเป็นน้ำมันที่มีกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) จำนวนมาก ซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย สามารถป้องกันการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนวิตามินอีที่อยู่ในเมล็ดทานตะวันจะทำหน้าที่เป็นสารแอนติออกซิแดนซ์ คอยดักจับและทำลายของเสียที่มาทำลายเซลล์ต่างๆ ช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันการเกิดมะเร็ง บำรุงสายตา ป้องกันการเป็นหมัน การแท้งและการป้องกันเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจากอากาศ การแปรรูปเมล็ดทานตะวันนั้นทำได้หลายรูปแบบ เช่น สกัดน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร เนยเทียม แป้งสำหรับทำขนมและอาหาร เมล็ดทานตะวันอบหรือคั่วเป็นอาหารว่างและที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ก็คือกรดไขมันซีแอลเอ (Conjugated Linoleic Acid) จากน้ำมันเมล็ดทานตะวันที่ให้คุณค่าของสารอาหารอย่างเข้มข้น เมล็ดทานตะวันไม่เพียงนิยมกินเป็นของว่างขบเคี้ยว ยังสามารถปรุงเป็นอาหารจานอร่อยได้อีกด้วย หากใครชื่นชอบสลัดผัก เมล็ดทานตะวันสามารถเข้ากับน้ำสลัดได้ทุกชนิดหรือจะเป็นอาหารประเภทยำ ข้าวอบ ก็สามารถนำไปคลุกเคล้าเพิ่มความอร่อยและได้คุณค่าทางอาหารอย่างลงตัว

            ส่วนเมล็ดฟักทอง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน สังกะสี เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม ใยอาหาร วิตามินเอ เมล็ดฟักทองจะมีผิวสีเขียวของคลอโรฟิล เมล็ดฟักทองที่ดีจะมีสีเขียวเข้มทั้งเมล็ด ซึ่งจะทำให้เมล็ดมีรสขมเล็กน้อย คล้ายรสของผักสด ในเมล็ดฟักทองเป็นแหล่งของสังกะสีซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตทั่วไปและการพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ที่พอเหมาะ ตลอดจนการทำงานตามปกติของต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) การขาดสังกะสีเป็นสาเหตุของการเป็นหมันและทำให้ขนาดและโครงสร้างของต่อมลูกหมากผิดปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยลดไขมันในเส้นเลือด เมล็ดฟักทองมีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว ซึ่งจะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยแก้ปัญหาโรคหลอดเลือดอุดตันได้ เมล็ดฟักทองยังช่วยป้องกันการเกิดนิ่ว เพราะในเมล็ดฟักทองมีฟอสฟอรัสในปริมาณสูง สามรถช่วยยับยั้งการเกิดผลึกนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ ทั้งยังช่วยป้องกันโรคริดสีดวงทวารและโรคผนังลำไส้โป่งพอง เมล็ดฟักทองเป็นแหล่งของใยอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหารทำให้ขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกายเร็วขึ้นและทำให้กากอาหารนิ่ม ไม่ทำให้เกิดแรงดันที่ผนังลำไส้ที่จะทำให้โลหิตดำโป่งและบวม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคผนังลำไส้โป่งพอง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น